วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อีบุ๊ค..มาแรง ยุค'ไฮบริด มีเดีย'

Simba Information บริษัทด้านมีเดียและมาร์เก็ตติ้ง ได้นำเสนอตัวเลขยอดการใช้งานอีบุ๊ค (e-Book) บนไอแพด iPad ในปี 2553
Simba Information คาดว่ามียอดจำหน่าย 12 ล้านเครื่องทั่วโลก และจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านเครื่องในปี 2554  ซึ่งผู้ซื้อไอแพด จะมีผู้ใช้งานอีบุ๊คประมาณ 65% หรือราว 7.8 ล้านคนในปี 2553 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคนในปี 2554 เรียกว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 400% เลยทีเดียว
สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประเมินแนวโน้มหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊คในประเทศไทย จากการสำรวจผู้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ช่วงเดือน ต.ค.2553 จำนวน 1,316 ราย พบว่ามีจำนวน 40 ราย หรือ 3% ที่อ่านหนังสือจากอีบุ๊ค และผู้เข้าชมงานจำนวน 1,071 ราย หรือ 81.4%  บอกว่ายังไม่มีอีบุ๊ค

อย่างไรก็ตาม ตลาด
อีบุ๊คในประเทศไทย มีโอกาสได้รับความนิยมสูงในอนาคต เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสาร ที่ส่งผลให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ดูได้จากอัตราการเพิ่มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในแต่ละปี

นอกจากนี้อีรีดเดอร์ เริ่มมีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากกระแสความนิยมที่แพร่หลายจากต่างประเทศ

สังเกตได้จากการเปิดตัวของเครื่อง อีรีดเดอร์ รุ่นและแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไอแพด มียอดขาย 200 เครื่องใน 1 ชั่วโมงแรกของการเปิดตัว ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากเครื่องอีรีดเดอร์ ที่มีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเบา และพกพาติดตัวได้ง่าย,
ซอฟต์แวร์ อีบุ๊ค รีดเดอร์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากผู้ผลิตซอฟต์แวร์หลายราย และบางซอฟต์แวร์ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี และราคาของอีรีดเดอร์ ถูกลงขณะที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 การเติบโตของ
อีบุ๊ค เชื่อว่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านหนังสือของแต่ละคน รวมทั้งอุตสาหกรรมหนังสือ สำนักพิมพ์ ผู้จำหน่ายหนังสือ ให้หันมาสนใจโครงสร้างทางธุรกิจแบบผสม (Hybrid Media) ระหว่างการพิมพ์หนังสือเป็นเล่มๆ และการทำคอนเทนท์บน e-Paper ที่ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดได้อย่างสะดวก และเข้าถึงได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง

ผลในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมหนังสือ คือ การสร้างข้อมูลเนื้อหาบน
อีบุ๊ค สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว สวยงาม มีต้นทุนต่ำ และสามารถกระจายสินค้าได้ทั่วโลก และยังช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษ ที่เป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม
อีบุ๊ค ในประเทศไทยขณะนี้ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่อง ลิขสิทธิ์ของเจ้าของหนังสืออีบุ๊ค และสิทธิของผู้ใช้งานได้ รวมทั้งมาตรฐานการผลิตอีบุ๊ค ด้านรูปแบบเนื้อหา การใช้ภาษา และการนำเสนอคอนเทนท์ อาจไม่เหมาะสมกับผู้อ่านบางกลุ่ม และมาตรฐานการจัดจำหน่ายของผู้ผลิต ด้านการกำหนดราคา และการจัดการสต็อกหนังสือ ให้หนังสือทั้งสองรูปแบบ ทั้งอีบุ๊ค และหนังสือเล่ม สามารถแข่งขันกันได้

แม้ว่าจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้อ่านหนังสือคนไทยจะให้ความสนใจ
อีบุ๊ค มากขึ้นหรือไม่ หรือ อีบุ๊ค จะสามารถแทนที่หนังสือเล่มได้หรือไม่ ผู้ผลิตเนื้อหา สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ ควรกำหนดแนวทางในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊คให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง   เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพื่อเพิ่มให้โอกาสให้แก่ผู้อ่านหนังสือ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังจำนวนผู้อ่านหนังสือที่จะมากขึ้นได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น